เล่นอินเตอร์เน็ตในเวลาทำงานเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว

เล่นอินเตอร์เน็ตในเวลาทำงานเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว
จำเลยซึ่งเป็นนายจ้าง จ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอกเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ส่วนค่าชดเชยนั้นจำเลยไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3407/2552

การพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จะต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 528 และมาตรา 538 หรือตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี และบทกฎหมายดังกล่าวก็มิได้บัญญัติว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้

โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ประกอบ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์

ส่วนค่าชดเชยจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม
________________________________

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้ปิดประการเลิกจ้างโจทก์ที่ทางเข้าบริษัท โดยไม่ได้ระบุเหตุผลและโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน เป็นเงิน 31,500 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน 28 วัน เป็นเงิน 20,300 บาท อีกทั้งจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2549 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 รวม 8 วัน เป็นเงิน 2,800 บาท การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 40,000 บาท แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 2,800 บาท กับค่าชดเชยจำนวน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,300 บาท กับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพ่วงกับอุปกรณ์ของจำเลย เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพูดคุยทางคอมพิวเตอร์ในเวลาทำงานเป็นประจำอันเป็นข้อห้ามของจำเลยและออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวกับบุคคลภายนอกโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบ จำเลยได้ตักเตือนเกี่ยวกับการกระทำดังกล่าวในที่ประชุมแล้วแต่โจทก์ยังคงประพฤติปฏิบัติเช่นเดิม จำเลยจึงมีหนังสือตักเตือนโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นโจทก์ได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย จึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 1,050 บาท และค่าชดเชยจำนวน 31,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินค่าจ้างและค่าชดเชยดังกล่าว กับให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,300 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 21,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายดังกล่าว โดยให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 พฤษภาคม 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 จำเลยได้จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการและบัญชี ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,500 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามหนังสือเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.7 โดยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ และฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า จดหมายเตือนเอกสารหมาย ล.4 ที่มีข้อความว่า “ด้วย น.ส. นงลักษณ์ พนักงานประจำของบริษัท ยูนิฟาย พรีเซนเทชั่น จำกัด ได้กระทำการหรือปฏิบัติหน้าที่การงานซึ่งผิดจากข้อบังคับของบริษัทฯ และคำสั่งการของผู้บริหาร โดยกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บริหารและจงใจทำให้บริษัทฯ เกิดความเสียหายโดยใช้ Computer Note Book ซึ่งมีงานส่วนตัวมาพ่วงต่อกับอุปกรณ์ของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานและมักออกไปติดต่อบุคคลภายนอกบริษัทฯ เพื่อทำการค้าขายผลประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานโดยไม่แจ้งให้ผู้บริหารหรือหัวหน้าทราบอยู่เสมอ มีการค้าขายสินค้าส่วนตัวและทำการพูดคุยทางคอมพิวเตอร์หรือที่เรียกว่า Chat ภายในเวลาทำงานของบริษัทฯ เป็นประจำทุกวันซึ่งเป็นข้อห้ามของทางบริษัทฯ อย่างรุนแรง และเป็นคำสั่งห้ามจากทางผู้บริหารโดยติดประกาศเตือนและแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบในที่ประชุมแล้วทุกครั้ง ซึ่งการตักเตือนของทางผู้บริหาร ได้ทำการตักเตือนในที่ประชุมบริษัทฯ แล้วถึง 5 ครั้ง โดยระบุถึง น.ส. นงลักษณ์ โดยเฉพาะด้วย แต่ก็ยังคงปฏิบัติผิดกฎระเบียบและคำสั่งผู้บริหารของบริษัทฯ เช่นเดิม...” นั้น โจทก์ไม่ทราบหนังสือตักเตือนดังกล่าวมาก่อนและวินิจฉัยว่าความผิดที่ตักเตือนดังกล่าวมิใช่ความผิดกรณีร้ายแรงที่นายจ้างเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องตักเตือน

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อ 2.4 ที่ศาลฎีกาสั่งให้รับไว้พิจารณาว่า จำเลยมีหนังสือเลิกสัญญาจ้างโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.7 โดยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ จำเลยมีสิทธิยกเหตุผลซึ่งมิได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นอ้าง เพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้หรือไม่เพียงใด นั้น จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี และบทกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.2 ที่ศาลฎีกาสั่งให้รับไว้พิจารณาว่า การกระทำของโจทก์ที่ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก โดยใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์ และอุปกรณ์ของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จำเลยได้ตักเตือนและสั่งห้ามโจทก์ในที่ประชุมบริษัทฯ แล้ว 5 ครั้ง นั้นเป็นการกระทำที่จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้ทันที โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีกเช่นกัน ส่วนค่าชดเชยนั้นจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในสัญญาหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้โจทก์ทราบในขณะที่เลิกจ้าง จำเลยจึงจะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ตามหนังสือบอกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

( ชัยรัตน์ เบ็ญจะมโน - วิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์ - มานัส เหลืองประเสริฐ )

มาตรา 583 ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดีหรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดีละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดีหรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้

มาตรา 17 สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
--ในกรณีที่สัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลานายจ้างหรือลูกจ้างอาจบอกเลิกสัญญาจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเกินสามเดือน
---ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตาม มาตรา 119 ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้
----การบอกเลิกสัญญาจ้างตามวรรคสอง นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้และให้ถือว่าการจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามวรรคนี้ เป็นการจ่ายสินจ้างให้แก่ลูกจ้างตาม มาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
-----การบอกกล่าวล่วงหน้าตาม มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตาม มาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัตินี้ และ มาตรา 583 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 49 การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าการเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้าง ที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ