ห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 (หญิงคู่หมั้น) คืนของหมั้นราคา 32,500 บาท ดังนั้นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนของหมั้นราคา 32,500 บาท และเงินสินสอดจำนวน130,000 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 รวมเป็นเงิน 162,500บาท อุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้ ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ต้องคืนของหมั้นและสินสอด ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกา คือ 162,500 บาท ไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2549


ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกัน เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวให้ เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาเพียงข้อเดียวว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีราคารวมเป็นเงิน 162,500บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของขำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 73/2546 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนนี้ตามเดิมและเรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 73/2546 ว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกนายธนูชัย แฝงฤทธิ์ จำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 4 และคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว

โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2544 โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ที่ 1 ไปสู่ขอจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2544 ได้ทำพิธีแต่งงานตามประเพณีกันโดยฝ่ายโจทก์มอบของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท และสินสอดเป็นเงินสด จำนวน 130,000 บาท ให้แก่ฝ่ายจำเลยครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 ชวนจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ยอมให้จดทะเบียนสมรสและยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 4 ถือว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้น โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหมั้น ขอให้จำเลยที่ 1 คืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,000 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 คืนเงินสดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้คืนเงินจำนวน 162,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก้โจทก์ทั้งสองนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 100,000 บาท จนกว่าจำเลยที่ 4 จะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยทั้งสามมิได้ผิดสัญญาหมั้น เพราะโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 แต่งงานตามประเพณีและอยู่กินฉันสามีภริยาประมาณ 1 ปีเศษ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่เคยนำพาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรส เมื่อจำเลยที่ 1 เรียนจบได้หางานทำกับโจทก์ที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร แต่มีเรื่องทะเลาะกัน โจทก์ที่ 1 จึงบอกเลิกกับจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกของหมั้นและสินสอดคืน ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า ไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 และนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 แต่งงานตามประเพณีกับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกับครอบครัวของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจำนวน 100,000 บาท จากจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยฝนอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 32,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 130,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 3,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้น สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับที่เลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ปัญหาในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกันนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวให้เป็นการไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาปัญหาเพียงข้อเดียวว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และสำหรับในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีราคารวมเป็นเงิน 162,500 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ 3 ดังกล่าวมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยในข้อเท็จจริงให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยให้บังคับเรื่องของหมั้นสำหรับจำเลยที่ 1 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกานอกจากที่คืนให้เป็นพับ

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 224 ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท กันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดใน พระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เว้นแต่ ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลชั้นต้นได้ทำความเห็นแย้งไว้ หรือได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ได้ หรือถ้าไม่มีความเห็นแย้ง หรือคำรับรองเช่นว่านี้ ต้องได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ จากอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาคผู้มีอำนาจ แล้วแต่กรณี
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพ บุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่ อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ ในขณะยื่น คำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดใน พระราชกฤษฎีกา
การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น รับรองว่ามี เหตุอันควรอุทธรณ์ได้ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อม กับคำฟ้องอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้พิพากษาดังกล่าว เพื่อพิจารณารับรอง
มาตรา 248 ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาท กันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง เว้นแต่ผู้พิพากษา ที่ได้นั่งพิจารณาคดีนั้นในศาลอุทธรณ์ได้มีความเห็นแย้ง หรือผู้พิพากษา ที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นก็ดี ศาลอุทธรณ์ก็ดี ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควร ที่จะฎีกาได้ ถ้าไม่มีความเห็นแย้งหรือคำรับรองเช่นว่านี้ต้องได้รับ อนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพ บุคคลหรือสิทธิในครอบครัว และคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่ อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออก จากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ ในขณะยื่นคำฟ้อง ไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาทหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
คดีเกี่ยวกับการบังคับวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของผู้ถูกฟ้องขับไล่ ซึ่งอยู่บนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งคู่ความในคดีฟ้องขับไล่นั้นต้องห้าม ฎีกาข้อเท็จจริงตามวรรคสอง ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ไม่ว่า ศาลจะฟังว่าบุคคลดังกล่าวสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้ หรือไม่ ห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงเว้นแต่จะได้มีความเห็นแย้งหรือ คำรับรอง หรือหนังสืออนุญาตให้ฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง
การขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น หรือศาล อุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรมี่จะฎีกาได้ ให้ผู้ฎีกายื่นคำร้องถึง ผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น เมื่อศาลได้รับ คำร้องเช่นว่านั้น ให้ส่งคำร้องพร้อมด้วยสำนวนความไปยังผู้ พิพากษาดังกล่าวเพื่อพิจารณารับรอง

มาตรา 249 ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่น ฎีกานั้นคู่ความจะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้ง จะต้องเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยด้วยการวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่เป็นสาระแก่คดีข้อใดไม่ควรได้รับการ วินิจฉัยจากศาลฎีกา ให้กระทำโดยความเห็นชอบของรองประธาน ศาลฎีกาซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงอำนาจ ของประธานศาลฎีกาตาม มาตรา 140 วรรคสอง
ถ้าคู่ความฝ่ายใดมิได้ยกปัญหาข้อใดอันเกี่ยวด้วยความสงบ เรียบร้อยของประชาชนขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ หรือคู่ความฝ่ายใดไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าว ในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์เพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ หรือเพราะเหตุเป็นเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยกระบวน พิจารณาชั้นฎีกา คู่ความที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้าง ซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ