ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพื่อคำนวณจ่ายค่าชดเชย

ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเพื่อคำนวณจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง ค่าจ้างจึงต้องเป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติได้รับค่าเที่ยวจำนวนเที่ยวละ 100 บาท ถึง 650 บาท โดยนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้ตกลงกำหนดตามระยะทางใกล้ไกลและความยากง่ายของงานสำหรับการทำงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7287/2550

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประกอบธุรกิจรับจ้างนำรถลากไปลากตู้คอนเทนเนอร์เพื่อนำสินค้าของลูกค้าไปส่งยังท่าเรือเพื่อส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ นายสมศักดิ์ เป็นลูกจ้างของโจทก์ ตำแหน่งพนักงานขับรถเข้าทำงานเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 มีหน้าที่ขับรถหัวลากตามใบสั่งงานของโจทก์ แล้วนำรถหัวลากไปลากตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากตัวแทนของบริษัทเรือ และนำตู้คอนเทนเนอร์ไปยังที่เก็บสินค้าของลูกค้าเพื่อนำสินค้าบรรจุลงในตู้คอนเทนเนอร์ เสร็จแล้วจึงขับรถลากตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งยังท่าเรือเพื่อส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ นายสมศักดิ์ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน เดือนละ 5,500 บาท และได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวเป็นจำนวนเที่ยวละ 100 บาท ถึง 650 บาท โดยพิจารณาจากระยะทางใกล้ไกลและความยากง่ายของงานในวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา โจทก์มอบหมายให้นายสมศักดิ์ไปขนสินค้าที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม แต่นายสมศักดิ์ปฏิเสธไม่ขับรถหัวลากให้โจทก์ เนื่องจากมีอาการบาดเจ็บที่แขนขวา และในวันดังกล่าวได้ปฏิบัติงานเป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงแล้ว วันที่ 15 กรกฎาคม 2546 โจทก์จึงเลิกจ้างนายสมศักดิ์โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย นายสมศักดิ์ได้รับค่าเที่ยวสำหรับการทำงานในเวลาทำงาน 180 วัน ก่อนการเลิกจ้างคิดเป็นเงิน 45,750 บาท เป็นการทำงานในระหว่างเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมดและทำงานนอกเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 70 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมด ขณะเลิกจ้างนายสมศักดิ์ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี

โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่า นายสมศักดิ์ลูกจ้างปฏิเสธไม่ขับรถหัวลากเพราะได้รับค่าเที่ยวลดน้อยลง ทั้งนายสมศักดิ์ได้แสดงใบรับรองแพทย์ ภายหลังจากโจทก์เลิกจ้างนายสมศักดิ์แล้ว นายสมศักดิ์จึงมีเจตนาฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 20 คำสั่งของโจทก์ที่เลิกจ้างนายสมศักดิ์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ชอบแล้ว เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่านายสมศักดิ์ปฏิเสธไม่ขับรถหัวลากเนื่องจากนายสมศักดิ์ประสบอุบัติเหตุตกจากรถและแขนขวาได้รับบาดเจ็บ นายสมศักดิ์ไม่ได้จงใจขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยเป็นประการสุดท้ายว่าเงินค่าเที่ยวหรือเบี้ยเลี้ยงที่นายสมศักดิ์ได้รับจากโจทก์เป็นค่าจ้างที่ต้องนำมาคำนวณเป็นค่าชดเชยหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะจ่ายให้เป็นค่าตอบแทนการทำงานปกติ จึงไม่ต้องนำค่าเที่ยวส่วนที่ทำในเวลางานปกติร้อยละ 30 มารวมคำนวณกับค่าจ้างปกติ และจำเลยอุทธรณ์ว่าต้องนำค่าเที่ยวส่วนที่ทำนอกเวลางานปกติร้อยละ 70 มาคำนวณรวมกับค่าเที่ยวส่วนที่ทำในเวลางานปกติร้อยละ 30 ด้วยนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้" ดังนั้น ค่าจ้างจึงต้องเป็นค่าตอบแทนในการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติ เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ได้ความว่านายสมศักดิ์ได้รับค่าเที่ยวจำนวนเที่ยวละ 100 บาท ถึง 650 บาท โดยนายจ้างและลูกจ้างเป็นผู้ตกลงกำหนดตามระยะทางใกล้ไกลและความยากง่ายของงานสำหรับการทำงานในเวลาทำงาน 180 วัน ก่อนการเลิกจ้างคิดเป็นเงิน 45,750 บาท เป็นการทำงานในระหว่างเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 30 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมด และทำงานนอกเวลาทำงานปกติคิดเป็นร้อยละ 70 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมด ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวดังกล่าวจึงเป็นเงินที่โจทก์และนายสมศักดิ์ตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้าง และส่วนที่ตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาทำงานปกติร้อยละ 30 ตามที่คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันจึงเป็นค่าจ้างแต่ส่วนที่ตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติร้อยละ 70 ไม่เป็นค่าจ้าง ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวที่เป็นค่าจ้างที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยจำนวนร้อยละ 30 ของค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าเที่ยวทั้งหมดจำนวน 45,750 บาท คิดเป็นเงิน 13,725 บาท เมื่อคำนวณเป็นรายเดือนจึงเป็นเงินเดือนละ 2,287.50 บาท เมื่อรวมกับเงินเดือนที่นายสมศักดิ์ได้รับเดือนละ 5,500 บาท จึงเป็นเงินค่าจ้างเดือนละ 7,787.50 บาท นายสมศักดิ์ทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายสมศักดิ์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) นายสมศักดิ์ลูกจ้างจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 46,725 บาท คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
มาตรา 5 "ค่าจ้าง" หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่าย เป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำ งานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะ เวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำ งานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับ ตามพระราชบัญญัตินี้
"ค่าจ้างในวันทำงาน" หมายความว่า ค่าจ้างที่จ่ายสำหรับการทำ ทำงานเต็มเวลาการทำงานปกติ
มาตรา 118 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(2) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหนึ่งปีแต่ไม่ครบสามปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานเก้าสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(4) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบหกปีแต่ไม่ครบสิบปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสองร้อยสี่สิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
(5) ลูกล้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไปให้จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามร้อยวันหรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย
การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่าการกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใดและหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น
การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้ สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจ หรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอนหรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานหรือในงานที่เป็นไปตาม ฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้นซึ่งงานนั้นจะต้อง แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปีโดยนายจ้างและลูกจ้างได้ ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง

ทนายความประชาชน
ชมรมปรึกษาคดีฟรี ทั่วประเทศฯ (ช ป.ท.)
hello! I am an admin of the People's Lawyer - Free Legal Consultation Club Nationwide (Chor.Por.T.A.) giving advice - like a relative - free of charge, call or add Line 089 214 2456
สวัสดี! ฉันเป็นแอดมินของทนายความประชาชน - ชมรมปรึกษาคดีฟรีทั่วประเทศฯ (ช.ป.ท.) ให้คำปรึกษา- ดุจญาติมิตร - ไม่คิดค่าใช้จ่าย โทร.หรือ แอดไลน์ 089 214 2456


X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ

🌈👉ติดตั้ง แอปพลิเคชัน👈🌈

💖⚖️“ (ทนายความประชาชน) ”⚖️💖

https://play.google.com/store/apps/

X
ติดตั้ง แอพพลิเคชั่น บนมือถือ